วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

รายงานการตรวจสอบกิจการเดือนสิงหาคม 2559

รายงานการตรวจสอบกิจการ
สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสิงห์บุรี จำกัด
ประจำเดือน สิงหาคม  2559
เรียน   คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสิงห์บุรี จำกัด
          ผู้ตรวจสอบกิจการ ทั้ง 5 คน ได้ดำเนินการตรวจสอบกิจการ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 ตามแผนที่กำหนดไว้ และใบงานเพื่อการปฏิบัติงาน การตรวจสอบกิจการประจำเดือนสิงหาคม 2559 จึงขอรายงามผลการตรวจสอบ ดังนี้
1. เรื่องที่ตรวจ
   1.1  การรับ การจ่ายเงิน     
     2. วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ
      2.1 เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการการรับและจ่ายเงิน
        2.2  เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานตามกระบวนการรับและจ่ายเงิน
3. ขอบเขตและวิธีการตรวจสอบ
      3.1 ตรวจสอบกระบวนการดำเนินการรับและจ่ายเงิน เปรียบเทียบระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนดไว้หรือไม่
       3.2  ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการการลงบัญชี และบัญชี ประจำเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม
      3.3 ตรวจสอบรายรับ ราบจ่าย การจัดงานแสดงมุทิตาจิตแด่สมาชิกที่เกษียณอายุราชการ
4. ผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ
     4.1 ผลการตรวจสอบ              
(1) เรื่องกระบวนการดำเนินการรับ จ่ายเงิน
จากการตรวจสอบเอกสาร และสอบถามการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย เจ้าหน้าที่การเงิน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ประมวลผล พบว่ากระบวนการรับเงินมีการออกใบเสร็จรับเงิน ซึ่งมี 2 ชนิด คือชนิดเรียกเก็บเงินงวดชำระหนี้ ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าหุ้นรายเดือน ซึ่งเป็นใบเสร็จรายเดือน ส่วนอีกชนิดเป็นใบเสร็จรับเงินที่สหกรณ์ได้รับนอกเหนือจากชนิดแรก กระบวนการดำเนินการใบเสร็จชนิดแรกออกก่อนได้รับเงินเนื่องจากต้องนำไปประสานกับหน่วยงานต้นสังกัดจัดเก็บให้ เมื่อได้รับเงินแล้วจึงมีการจัดลงบัญชีตามรายการที่เก็บได้ ส่วนรายการที่เก็บไม่ได้ก็จะมาเข้าสูกระบวนการคืนบิล ซึ่งมีผู้รับผิดชอบดำเนินการเป็นการเฉพาะ สำหรับชนิดที่ 2 เป็นการออกใบเสร็จเมื่อสหกรณ์ได้รับเงิน ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์มีการรับเงินทั้งในรูปแบบเงินสด และการชำระโดยใช้ธุรกรรมผ่านธนาคาร ด้วยการโอนเงินที่ชำระเข้าบัญชีของสหกรณ์ฯ กระบวนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่มีความชัดเจน และมีการตรวจสอบระหว่างผู้รับผิดชอบประจำหน่วย เจ้าหน้าที่การเงิน เจ้าหน้าที่ประมวลผล และเจ้าหน้าที่บัญชี จากสภาพที่ตรวจสอบเชื่อได้ว่าความผิดพลาดไม่น่าจะเกิดได้ หรือหากเกิดก็สามารถตรวจรู้ข้อผิดพลาดได้ในวันที่เกิด เมื่อนำระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงินมาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ ปรากฏว่าระเบียบฯ บางส่วน เช่นหมวด 1 ใบเสร็จรับเงิน ไม่สามารถนำมาใช้กับการปฏิบัติจริงได้ ในส่วนการรับเงินก็ยังไม่ครอบคลุมการชำระผ่านธนาคาร
การจ่ายเงิน กระบวนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ คือการเตรียมการจัดหาเงินมาเพื่อดำเนินการจ่ายในแต่ละวันให้เพียงพอ และดำเนินการจ่ายตามหลักฐานที่สหกรณ์กำหนด เมื่อสิ้นวัน ผู้จัดการจะตรวจสอบการรับการจ่าย และนำเงินคงเหลือฝากไว้กับธนาคาร เมื่อตรวจสอบบัญชี พบว่ามีการลงบัญชีตามหลักฐานการจ่าย และจัดเก็บไว้เป็นระบบครบถ้วน เมื่อศึกษาระเบียบ ฯ หมวด 3 การจ่ายเงิน ข้อ 26 การจ่ายเงินของสหกรณ์ให้กระทำได้ดังนี้
            26.1 การจ่ายเงินจำนวนไม่มากและต้องจ่ายเป็นประจำ เช่นค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยงของกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ค่าสื่อสาร ค่าไฟฟ้า น้ำประปา และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด เป็นต้นให้จ่ายเงินสดในมือที่กำหนดให้เก็บรักษาไว้ได้ไม่เกิน 30,000.-บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)
            26.2 การจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้แก่สมาชิก หรือกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ หรือจ่ายเงินของสหกรณ์ในทางธุรกิจอื่น ๆ ให้จ่ายเป็นเช็ค ยกเว้นผู้รับเงินประสงค์จะให้จ่ายเป็นเงินสด หรือในกรณีที่สหกรณ์ไม่สามารถจ่ายเป็นเช็คได้ก็ให้จ่ายเป็นเงินสด โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการ
ข้อ 32 ในการถอนเงินจากธนาคารหรือแหล่งเงินฝากอื่น ๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในธุรกิจของสหกรณ์ ให้ผู้จัดการ หรือผู้ทำหน้าที่แทน ทำบันทึกขออนุมัติถอนเงิน โดยชี้แจงเหตุผลต่อประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติถอนเงินพร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และเอกสารการถอนเงินเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

การจ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการดำเนินการมอบอำนาจ และกำหนดวงเงินที่อนุมัติตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนดเป็นปี ๆ ไป
จากการสอบถามผู้จัดการและเจ้าหน้าที่การเงินในเรื่องการเบิกเงินมาเพื่อใช้จ่ายในธุรกิจของสหกรณ์ ได้ดำเนินการเบิกเงินมาจากธนาคารเป็นประจำทุกวันเพื่อการใช้จ่ายในธุรกิจบริการสมาชิกจำนวน แต่ละวันไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของสมาชิกซึ่งบางรายมีการประสานการรับเงินล่วงหน้า เมื่อสอบถามจำนวนวงเงินที่คณะกรรมการดำเนินการอนุมัติให้ดำเนินการ ข้อมูลที่ได้คือยังไม่มี
   ข้อสังเกต  1. ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสิงห์บุรี จำกัด ว่าด้วยการรับ จ่าย และเก็บรักษาเงิน พ.ศ 2554 ยังไม่สามารถใช้เป็นกรอบในการควบคุมการปฏิบัติงานได้อย่างครอบคลุมการปฏิบัติจริงในปัจจุบันที่ได้มีการพัฒนาขึ้น
                   2. การจ่ายเงินในธุรกิจของสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติได้ตามขั้นตอน และมีการตรวจสอบเป็นรายวัน และการกำกับติดตามของคณะกรรมการยังไม่ชัดเจน และขาดการการดำเนินการตามบทบาทที่กำหนดไว้ในระเบียบ
 ข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการเตรียบการปรับปรุงระเบียบให้ทันสมัย สามารถใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงานและเครื่องมือในการตรวจสอบติดตามผลได้
                   2..ควรมีการทบทวนระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายเงินและการเก็บรักษา พ.ศ. 2554 ที่ยังถือใช้อยู่ ในข้อ 32 แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ จะสามารถควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และป้องกันความเสี่ยงอันอาจเกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย
(2)  การจ่ายเงินการจัดงานแสดงมุทิตาจิตแด่สมาชิกผู้เกษียณอายุราชการ
จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และและสังเกตุการดำเนินการ รวมทั้งได้สอบถามเจ้าหน้าที่การเงินของสถานที่พัก พบว่ามีการนำเงินสดเพื่อไปบริการมอบให้กับผู้เกษียณอายุที่เดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วย นับเป็นสวัสดิการที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้เกษียณอายุ สถานที่พัก อาหาร และกิจกรรมจากผลการประเมินที่เจ้าของโครงการประเมินจากผู้ร่วมกิจกรรมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก ค่าใช้จ่าย เพื่อกิจกรรมในวันที่ 2 – 3 กันยายน 2559  จำนวน 418,580 บาท ซึ่งไม่เกินงบประมาณที่ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ รายการจ่ายแยกแต่ละรายการว่าใช้จ่ายเป็นอะไร มีหลักฐานแสดงการรับเงินถูกต้อง
ข้อสังเกต
          1. การนำเงินจำนวนมากๆ เดินทางไปต่างจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่การเงินรับผิดชอบในการเก็บรักษา เป็นความเสี่ยง
            2. คณะกรรมการผู้รับผิดชอบในการประสานเรื่องที่พักแจ้งราคาที่พักกับเจ้าหน้าการเงิน ไม่ตรงกับจำนวนที่โรงแรมเรียกเก็บ
            3. การประสานงานทั้งสถานที่ และเรื่องอาหาร มีค่าใช้จ่ายถึง 2 ครั้ง
            4. การเบิกจ่ายบางรายการยังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ที่จะสามารถเบิกจ่ายได้
ข้อเสนอแนะ
          1. การนำเงินออกไปจากสหกรณ์จำนวนมาก คณะกรรมการดำเนินการ ควรศึกษารายละเอียดและอนุมัติจำนวนเงินที่ชัดเจนตามความจำเป็น และควรมีคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการร่วมดูแลเก็บรักษาด้วย
          2. ผู้ประสานงานควรแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อมวลสมาชิก ไม่ควรปกปิดข้อเท็จจริง ทำให้สหกรณ์ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเป็นจริง
            3. การดำเนินการในรายละเอียดของโครงการ หากจำเป็นต้องมีการประสาน อาจใช้ช่องทางอื่น ๆ เช่น โทศัพท์  หรือระบบไอที ที่ปัจจุบันมีใช้อยู่ก่อนการเดินทางไปประสานด้วยตนเอง จะเป็นการประหยัดทั้งเวลา เงิน และคน
            4. การดำเนินการที่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ควรศึกษาระเบียบ ข้อบังคับให้ชัดเจนก่อน  
สุมารี  อุสาหะ         ผู้ตรวจสอบกิจการ                      จ.ส.อ.ดิเรก   พรประเสริฐ          ผู้ตรวจสอบกิจการ        สุมาลี  ชูจันทร์          ผู้ตรวจสอบกิการ                    สำราญ  ชูเนตร                      ผู้ตรวจสอบกิจการ
                                     วันชัย  กล้าเอี่ยม                  ผู้ตรวจสอบกิจการ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น